วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

กระบวนการการจัดการ (Management process)

กระบวนการการจัดการ  (Management  process)

ผู้บริหารธุรกิจมีหน้าที่ในเรื่องของการจัดการ   กระบวนการการจัดการประกอบไปด้วยขั้นตอนที่สำคัญอยู่  4 ขั้นตอน  คือ

1.  การวางแผน  (Planning)  เป็นกิจกรรมอันดับแรกที่สำคัญของผู้บริหารที่จะต้องมีการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เตรียมการไว้ล่วงหน้า  เช่น  มีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ  เช่น  จะขยายกิจการลงทุนสร้างโรงงานใหม่   เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ   เพื่อให้การบริหารงานประสบผลสำเร็จ   ดังนั้นผู้บริหารจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม

2.   การจัดองค์การ  (Organizing)   เพื่อให้เป้าหมายของธุรกิจที่วางแผนไว้ล่วงหน้าประสบผลสำเร็จ   ผู้บริหารจะมีการจัดโครงสร้างองค์การ   มีการแบ่งงาน  มอบหมายงาน  จัดพนักงานในการปฏิบัติงานต่าง ๆ  ในตำแหน่งต่างๆ  ขององค์การ  เพื่อให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

3.   การนำ  (Leading)   หมายถึง  การสั่งการ   การชี้แนะ   ของผู้บังคับบัญชาที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานตามคำสั่ง   หรือคำชี้แนะของผู้บังคับบัญชา   เพื่อให้การทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วง   ตามวัตถุประสงค์ขององค์การ   ดังนั้นภาวะผู้นำ   การจูงใจ  การติดต่อสื่อสาร   จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องคำนึงถึง

4.   การควบคุม  (Controlling)  เป็นกิจกรรมขั้นสุดท้ายของกระบวนการบริหาร  เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้หรือไม่   ดังนั้นผู้บริหารจะต้องกำหนดเกณฑ์   มาตรฐาน   เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินผล   ปัจจุบันเกณฑ์การประเมินผลที่ธุรกิจใช้กันมากก็คือ   การใช้ Benchmark   กับกิจการคู่แข่งขันที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของผู้บริหาร   จะต้องเสาะแสวงหากดึงดูด   บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าในองค์การ   จูงใจรักษาพนักงานที่มีคุณภาพไว้ให้อยู่กับองค์กรนานๆ    โดยพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ


หน้าที่ในการประกอบธุรกิจ

กิจกรรมต่าง ๆ ทางธุรกิจนับตั้งแต่เริ่มทำให้เกิดมีสินค้าหรือบริการขึ้นมา  จนกระทั่งสินค้าหรือบริการนั้นไปถึงมือผู้บริโภค    เป็นกิจกรรมที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนหลายขั้นตอน   แต่ถ้าพิจารณาถึงหน้าที่งานหลัก ๆ  ทางธุรกิจแล้ว   อาจแบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1.  หน้าที่ทางด้านการผลิต   คือ  กิจกรรมที่ทำให้เกิดมีสินค้าหรือบริการ   กิจกรรมนี้จะรวมถึงการจัดตั้งสถานที่ประกอบการ   การติดตั้งเครื่องมือ   เครื่องจักร   การจัดซื้อวัตถุดิบ  การดำเนินการผลิต   การเก็บรักษาวัสดุต่าง ๆ ในโรงงาน   โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ได้สินค้าคุณภาพดี   ต้นทุนที่เหมาะสม

2.   หน้าที่ทางด้านการตลาด  คือ  กิจกรรมต่างๆ  ที่จะทำให้สินค้าหรือบริการที่ผลิตเสร็จไปถึงมือผู้บริโภค   ในการประกอบกิจการ   ถ้าสินค้าหรือบริการที่ผลิตแล้วไม่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน  เราไม่ถือว่าเป็นธุรกิจ   ดังนั้นกิจกรรมใด ๆ ก็ตามถ้ามีส่วนช่วยให้สินค้าหรือบริการนั้น   เปลี่ยนมือ  ซื้อขาย  หรือแลกเปลี่ยน   เราถือว่าเป็นกิจกรรมด้านการตลาดทั้งสิ้น   กิจกรรมด้านการตลาด  ได้แก่  การซื้อ  การขาย  การเก็บรักษา   การโฆษณา   การหีบห่อ   การส่งเสริมการจำหน่าย  ฯลฯ  วัตถุประสงค์ของงานด้านการตลาด   คือ  ให้ผู้ที่ใช้สินค้าได้รับสินค้าหรือบริการไปโดยได้รับความพอใจมากที่สุด

3.  หน้าที่ทางด้านการเงิน   การเงินนับเป็นเรื่องสำคัญมากในการประกอบธุรกิจ   ธุรกิจจะเริ่มต้นและดำเนินการอยู่ได้อย่างราบเรียบ   อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการบริหารงานด้าน   ทั้งนี้เพราะในการประกอบธุรกิจนั้นมีรายการที่เกี่ยวกับรายได้

4.   หน้าที่ทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์   คือ  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดขององค์การ  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์    จะเริ่มต้นจากการวางแผนทรัพยากรมนุษย์   การสรรหาและการคัดเลือกการบรรจุแต่งตั้ง   การจ่ายค่าตอบแทน  การพัฒนาและการฝึกอบรม   การประเมินผลการปฏิบัติงาน   แรงงานสัมพันธ์


ระดับของการจัดการ  (Levels  of  Management)

ระดับของการจัดการแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ   ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดการจะมีอำนาจหน้าที่   และความรับผิดชอบต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งต่าง ๆ มีดังนี้

1.   ผู้บริหารระดับสูงสุด  (Top  Management)     คือ  ผู้จัดการอาวุโสหรือผู้บริหารที่มีความสำคัญที่สุด   โดยจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์มานานหลายปี   ในการบริหารงานระดับนี้ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร  (Board  of  Directors)   ประธาน  (President)   หรือหัวหน้าผู้บริหาร  (Chief  Executive  Officers)   และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของบริษัทการบริหารงานระดับสูงจะต้องรับผิดชอบต่อการบริหารงานทั้งหมดขององค์การและตัดสินใจในการทำแผนงานกว้าง ๆ  ของบริษัท   และเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ  เช่น  การรวมกิจการ  สินค้าชนิดใหม่  และการออกหุ้นทุน

2.  ผู้บริหารระดับกลาง  (Middle  Management)   ประกอบด้วยผู้จัดการแผนก  (Division  Managers)   หรือผู้จัดการโรงงาน  (Plant  Manager)   ผู้จัดการเหล่านี้มีความรับผิดชอบในการปรับปรุงโครงการดำเนินงาน   ซึ่งช่วยทำให้โครงการกว้าง ๆ   ซึ่งทำขึ้นโดยฝ่ายบริหารขั้นสูงสุดสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี   และทำหน้าที่สั้งงานและรับรายงานจากผู้บริหารระดับต้นของหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน   จึงเปรียบเสมือนตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารระดับสูง  และระดับต้น

3.   ผู้บริหารระดับต้น ๆ  (First  Line  of  Supervisory)   คือหัวหน้าขั้นต้น   เพราะว่าต้องมีความรับผิดขอบในการควบคุมดูแลคนงาน   ซึ่งดำเนินงานเป็นประจำ   ไม่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย  กฎระเบียบ   และหน่วยปฏิบัติที่แน่นอนเป็นเครื่องมือช่วยในการปฏิบัติงานอยู่แล้ว

ทักษะของผู้บริหาร  

ในอดีต  นักวิชาการต่าง ๆ  ได้กล่าวถึงทักษะของผู้บริหาร   ซึ่งจะต้องมี 3 ประการ  คือ
1.   ทักษณะในด้านรายละเอียดของการปฏิบัติงาน  (Technical  Skill)   หมายถึง  ความรู้ในวิธีการ ปฎิบัติงานในการใช้เครื่องมือ   และมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ  โดยเฉพาะ   เช่น  ศัลยแพทย์  นักดนตรี   นักวิชาการ

2.  ทักษะในเรื่องมนุษยสัมพันธ์  (Human  Relation  Skills)   หมายถึง  ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น  คือ  มีมนุษยสัมพันธ์   เข้าใจและรู้วิธีจูงใจผู้ร่วมงานทั้งเป็นรายบุคคล  หรือเป็นกลุ่ม   ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับความร่วมมือ

3.  ทักษะในเรื่องความคิด  (Conceptual  Skill)   หมายถึง  มีความรู้ทางทฤษฎี  และหลักการสามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพการทำงานเป็นส่วนรวม  เข้าใจความเกี่ยวข้องของกิจกรรม  หรือหน้าที่ของงานต่างๆ   เข้าใจถึงความสำคัญของความสัมพันธ์  และการประสานงานของแต่ละหน้าที่  ทั้งภายในองค์การกับสภาพแวดล้อมในด้านเศรษฐกิจ   การเมืองและสังคม  อันจะทำให้เกิดผลสำเร็จ   เป็นส่วนรวมของกิจการแต่ในปัจจุบัน   ผู้บริหารควรจะมีทักษะเพิ่มขึ้นอีก 2 ทักษะ   คือ
1.  ทักษะทางด้านการตัดสินใจ  (Decision-Making  Skill)   หมายถึง  ความสามารถของผู้บริหารในการพิจารณาตัดสินใจต่าง ๆ เช่น  การตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา   ซึ่งผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการระบุปัญหา   วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา   สามารถกำหนดทางเลือกต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา   และพิจารณาตัดสินใจในทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
2.   ทักษะด้านการจัดการทางด้านเวลา  (Time  Management  Skills)    หมายถึง   ความสามารถของผู้บริหารในการบริหารเวลาได้อย่างเหมาะสม   เช่น  งานใดควรจะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารงานระดับสูง   งานใดสามารถมอบหมายให้ผู้บริหารระดับรองลงไปปฏิบัติ   เป็นต้น

ที่มา : http://staff.informatics.buu.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น